การเก็บตัวอย่างดินเปลี่ยนสภาพ (Disturbed Sample) จะดำเนินการก็ต่อเมื่อไม่สามารถเก็บตัวอย่างดินแบบคงสภาพ (Undisturbed Sample) ด้วยกระบอกบางได้แล้ว นั่นหมายความว่าชั้นดิน ณ ความลึกนั้นๆมีความแข็งมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถใช้แรงคนในการกดกระบอกบางเพื่อเก็บตัวอย่างดินได้อีกต่อไป จึงต้องเปลี่ยนมาเก็บตัวอย่างดินด้วยกระบอกผ่า (Split Spoon) ซึ่งในการเก็บตัวอย่างดินจากหลุมเจาะด้วยกระบอกผ่า ก็จะทำการทดสอบควบคู่ไปกับการตอกทดสอบมาตรฐาน (Standard Penetration Test : ASTM D-1586) นั่นเอง
ตัวอย่างดินเปลี่ยนสภาพ (Disturbed Sample)
เมื่อเจอชั้นดินแข็งทีมเจาะสำรวจดินภาคสนามก็จะทำการเปลี่ยนวิธีการเก็บตัวอย่างจากกระบอกบางมาเป็นกระบอกผ่าที่มีขนาดตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งจะต้องอาศัยตุ้มน้ำหนักมาตรฐานในการตอก โดยจะต้องมีระยะยกของตุ้มน้ำหนักที่แม่นยำและจะต้องมีการนับจำนวนครั้งในการตอกตามระยะที่กำหนดด้วย จำนวนครั้งในการตอกที่บันทึกได้ก็คือค่า SPT N-Value ซึ่งมีหน่วยเป็นครั้งต่อฟุต
ตัวอย่างดินที่ได้จากการตอกทดสอบจะถือว่าเป็นตัวอย่างดินเปลี่ยนสภาพเนื่องจากการถูกรบกวนจากแรงกระทำภายนอกอย่างรุนแรง การทดสอบฝังจมแบบพกพา (Pocket Penetrometer Test) จึงไม่เป็นที่นิยมนำมาทดสอบกับตัวอย่างดินประเภทนี้ เพราะจะให้ค่าที่ผิดเพี้ยนไปอย่างมาก ดังนั้นเมื่อดึงเอากระบอกผ่าออกมาจากหลุมเจาะแล้ว กระบอกจะถูกทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง เพื่อไม่ให้ความชื้นจากภายนอกไปปนเปื้อนกับตัวอย่างดิน เมื่อหมุนถอดส่วนหัวและส่วนปลายของกระบอกผ่าแล้วก็จะสามารถนำตัวอย่างดินออกมาได้ และจะถูกเก็บบรรจุไว้ในภาชนะที่ป้องกันการสูญเสียความชื้นอย่างมิดชิด จดบันทึกข้อมูลเบื้องต้นของตัวอย่างดิน เช่น ชื่อโครงการ สถานที่เจาะสำรวจดิน ระดับความลึกที่ทดสอบ ฯลฯ เพื่อนำส่งไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ ส่วนกระบอกผ่าจะถูกทำความสะอาดและประกอบกลับเข้าที่เพื่อใช้ทดสอบในระดับความลึกต่อๆไป