กระบวนการเจาะสำรวจดินที่ได้รับความนิยมและสามารถพบเห็นได้บ่อยที่สุดก็คือ การเจาะโดยวิธีฉีดล้าง (Wash Boring) เพราะนิยมใช้กับงานก่อสร้างทั่วๆไป เช่น งานก่อสร้างบ้านพักอาศัย หรือโครงสร้างที่มีขนาดเล็ก-ปานกลาง เป็นต้น เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในการเจาะเป็นโครงเหล็ก 3 ขา (Tripod) พร้อมเครื่องกว้านขนาดเล็ก ซึ่งจะมีข้อจำกัดเกี่ยวความสามารถในการดึงก้านเจาะ (Drill Rod) ออกจากหลุมเจาะ ส่วนใหญ่จะทำการเจาะสำรวจได้สูงสุดที่ความลึกประมาณ 30 – 35 เมตร แต่ที่ความลึกระดับนี้ก็สามารถให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการออกแบบเพราะโครงสร้างเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักบรรทุก (Load) ไม่สูงมากนักนั่นเอง

วิธีการเจาะดินแบบฉีดล้าง (Wash Boring)

วิธีการเจาะดินแบบฉีดล้าง (Wash Boring)

วิธีการเจาะแบบฉีดล้าง (Wash Boring) เป็นการเจาะสำรวจชั้นดิน โดยการฉีดอัดน้ำผ่านก้าน เจาะลงไปที่ก้นหลุมเจาะด้วยปั๊มน้ำแรงสูงและเป่าออกมาที่หัวเจาะ ในขณะที่หัวเจาะ (Chopping Bit) กระแทกบดดินให้แตกย่อยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้น้ำสามารถพัดพาเอาดินชิ้นเล็กๆ ขึ้นมาตามผนังหลุมเจาะ ดินชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นจะไหลไปลงบ่อตกตะกอนข้างหลุมเจาะ เพื่อเป็นการกรองดินเม็ดหยาบ (Coarse Grain Soil) และน้ำจะถูกสูบกลับมาใช้ใหม่

แผนภาพเครื่อง Motorized Drilling Rig
เครื่องมือและกระบวนการทำงานของเครื่อง Motorized Drilling Rig

และในกรณีที่เจาะผ่านชั้นกรวด ทรายก็จำเป็นจะต้องอาศัยเบนโทไนท์ (Bentonite Slurry) โดยความเข้มข้นของสารละลายเบนโทไนท์ที่ใชปกติจะควบคุมให้มีความหนาแน่น 1.09 – 1.15 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร สารละลายนี้จะทำหน้าที่นำพาเศษกรวดทรายที่ลอยอยู่ในหลุมเจาะให้ขึ้นมาปากหลุมเจาะได้มากขึ้น และยังเกาะเป็นชั้นบางเหนียวเคลือบอยู่บนผนังหลุมเจาะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของผนังหลุมเจาะในชั้นดินประเภทกรวดและทราย ทำให้ไม่ต้องตอกท่อกรุ (Casing) ไปตลอดความลึกของหลุมเจาะช่วยป้องกันการพังทลายของหลุม

หัวเจาะดินประเภทต่างๆ
หัวเจาะดิน (Chopping Bit) ประเภทต่างๆ ที่นิยมใช้ในการเจาะดินแบบฉีดล้าง