สำหรับงานอาคารสูงหรือโครงสร้างขนาดใหญ่ กระบวนการเจาะสำรวจดินที่จะถูกเลือกนำมาใช้คือ การเจาะโดยวิธีเจาะปั่น (Rotary Drilling) นั่นก็เพราะวิธีการนี้สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ออกแบบได้มากกว่า ซึ่งก็คือความลึกในการเจาะสำรวจที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการเจาะทะลุทะลวงได้แม้เป็นชั้นดินดาลที่มีความแข็งมากๆหรือกระทั่งชั้นหิน นั่นก็เพราะเป็นการใช้เครื่องจักและระบบไฮดรอลิก (Hydraulic) เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแทนแรงงานคนและแรงโน้มถ่วง ทำให้ขีดความสามารถในการเจาะสำรวจได้ลึกขึ้น ซึ่งในงานทั่วๆไปก็จะมีความลึกสำรวจอยู่ที่ประมาณ 40 – 80 เมตร (โซนที่มีชั้นดินอ่อนหนา เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ส่วนในพื้นที่อื่นๆก็จะขึ้นอยู่กับชนิดชองโครงสร้างและสภาพภูมิประเทศ เช่น การเจาะสำรวจความหนาและความสมบูรณ์ของชั้นหินใต้ฐานราก
วิธีการเจาะดินโดยแบบเจาะปั่น (Rotary Drilling)
วิธีการเจาะสำรวจดินแบบเจาะปั่น (Rotary Drilling)เป็นการเจาะดินโดยใช้เครื่องยนต์ (Rotary Drilling Rig) หมุนหัวเจาะปั่นด้วยความเร็วรอบตามกำหนด ที่หัวเจาะปั่นจะมีรูสำหรับฉีดเบนโทไนท์ (Bentonite Slurry) ซึ่งกระบวนการเจาะโดยรวมจะคล้ายคลึงกับการเจาะแบบฉีดล้าง แต่จะไม่ให้ความรู้สึกที่สัมผัสได้โดยตรงกับมือผู้เจาะที่ส่งมาจากจากก้านเจาะดังเช่นวิธีเจาะแบบฉีดล้าง ส่งผลให้การคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ในการสังเกตจากความแตกต่างของแรงกดไฮดรอลิกที่ใช้ อัตราการไหลลงของก้านเจาะ และรวมไปถึงการสังเกตุตะกอนดินที่ถูกพัดพาขึ้นมาอีกด้วย
การเจาะด้วยวิธีนี้ทำโดยใช้แรงดันน้ำจากปั๊มน้ำในการฉีดไล่เศษดินจากก้นหลุมเจาะ ในขณะที่เครื่องทำการปั่นหมุนหัวเจาะ และเมื่อเจาะไปถึงชั้นทรายหรือชั้นดินปนทรายชั้นแรก สารเบนโทไนท์ก็จะถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการพังทลายของหลุมเจาะ เมื่อถึงระดับความลึกที่กำหนดในการเก็บตัวอย่างดิน หรือมีการเปลี่ยนแปลงของชั้นดิน หัวเจาะก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็นกระบอกเก็บตัวอย่างดิน ทั้งนี้การเลือกใช้กระบอกเก็บตัวอย่างดินก็ขึ้นอยู่กับความแข็งของชั้นดินที่ระดับความลึกนั้นๆ อีกหนึ่งความสามารถของเครื่องแบบเจาะปั่นก็คือ สามารถทำการเจาะผ่านและเก็บตัวอย่างชั้นหินได้อีกด้วย เพียงทำการเปลี่ยนหัวเจาะดินมาเป็นหัวสำหรับเจาะหิน (Diamond Core Bit) ที่เหมาะสม